วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สรุปแกนสมมาตรของรูปเรขาคณิต


ตัดกระดาษตามรูปเรขา พับหาแกนสมมาตร ขีดแกนสมมาตรที่พับได้ แล้วสรุปผล

    นักเรียนทดลองตัดรูปเรขาคณิต แล้วพับเพื่อหาแกนสมมาตร ซึ่งนักเรียนได้ข้อสรุปร่วมกันดังนี้ รูปสามเหลี่ยมสามเหลี่ยมหน้าจั่วจะมีแกนสมมาตรเพียงหนึ่งแกน หากเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าจะมี 3 แกน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนจะมีแกนสมมาตร เพียง 2 แกน แต่สี่เหลี่ยมจัตุรัสมีถึง 4 แกน รูปวงรีมีแกนสมมาตร 2 แกน รูปห้าเหลี่ยมด้านเท่ากันทุกด้าน จะมีแกนสมมาตร 5 แกน รูปหกเหลี่ยมด้านเท่ากันทุกด้านมีแกนสมมาตร 6 แกน รูปวงกลมครองแชมเพราะสามารถหาได้เยอะที่สุด พี่ป.1 หาได้ 4 แกน พี่ป.2 หาได้ 7 แกน ส่วนที่ป.3 หาได้เยอะสุด 20 แกนสมมาตร ซึ่งนักเรียนสรุปร่วมกันว่าวงกลมเป็นรูปที่มีแกนสมมาตรมากที่สุด


ผลงานบางส่วนในการสรุปผลการทดลองพับรูปเรขาคณิต เพื่อหาแกนสมมาตรของนักเรียน

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รูปภาพสร้างสรรค์จากแกนสมมาตร


กิจกรรมต่อยอดจากการเรียนการสอนเรื่องแกนสมมาตรของนักเรียนชั้น ป.1


การเรียนรู้......นำไปสู่การใช้ได้จริง
กิจกรรมสร้างสรรค์ตัวละคร ที่ต้องการตามจินตนาการของนักเรียน นำความรู้เรื่องแกนสมมาตรมาช่วยออกแบบตัวละคร โดยการพับครึ่งกระดาษแล้ววาดภาพเพียงหนึ่งข้าง เมื่อคี่ออกจะได้ตัวละครที่สมส่วนทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นผลงานที่สมบูรณ์จากผลงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1



ขั้นตอนการออกแบบตัวละคร ร่างภาพลงบนกระดาษที่พับครึ้ง ตัดตามเส้นที่ร่าง จากนั้นถึงขั้นตอนทำให้แบบร่างกลายเป้นตัวละครที่สวยงาม โดยการระบายสีแต่งแต้มสีสันทั้งหน้าและหลัง ด้วยความตั้งใจเพื่อผลงานที่เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ ส่งต่อไปยังขั้นตอนสุดท้ายคือการติดไม้ตะเกียบ เพื่อใช้จับในการแสดงละครต่อไป

แกนสมมาตรของรูปเรขาคณิต


ตัดรูปเรขาคณิตแล้วหาแกนสมมาตรกันนะ


กิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องแกนสมมาตร ของรูปเรขาคณิตสองมิติ ได้แก่ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปสามหลี่ยม รูปวงกลม รูปวงรี รูปห้าเหลี่ยม และรูปหกเหลี่ยม เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เห็นแกนสมมาตรของรูปเรขาคณิตสองมิติ ด้วยการลงมือปฏิบัติจากสื่อจริง ตัดรูปเรขาคณิตสองมิติ จากนั้นพับหาแกนสมมาตร ทุกครั้งที่พับนักเรียนจะต้องสังเกตุเห็นได้ด้วยตัวเอง เพื่อเช็คดูว่าแกนสมมาตรที่เกิดขึ้น แบ่งรูปเรขาคณิตออกเป็นสองส่วนที่เท่ากัน และเมื่อพับจะทับกันได้สนิทพอดีหรือไม่ เพื่อสรุปว่าเป็นแกนสมมาตร จากนั้นนักเรียนขีดเส้นตามรอยเพื่อการเห็นได้ชัดเจน จากนั้นแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในกลุ่มของตัวเอง เพื่อสรุปลงในการดาษเตรียมนำเสนอในชั้นเรียน

การจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วม ทั้งกลุ่มสามคนและนำเสนอในชั้นเรียน เริ่มที่นักเรียนจะเรียนรู้เป็นกลุ่มสามคน แบ่งปันหน้าที่ ตัดรูปเรขาคณิตต่างๆ แล้วแบ่งกันได้ลองพับ หาแกนสมมาตร ทุกครั้งที่พับ รูปจะต้องทับกันได้สนิททั้งสองด้าน นักเรียนจะขีดเส้นตามรอยพับ จากนั้นคี่ออกแล้วพับหาแกนสมมาตรแกนต่อไป ทำเช่นนี้จนกว่าจะพับซ้ำรอยเดิม สรุปผลการทดลองลงในกระดาษ A4 เพื่อนำเสนอแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โจทย์คณิตศาสตร์วัดความเข้าใจ(บนกระดาน)...

บางวันของการเรียนการสอน
นักเรียนจะได้ทำโจทย์คณิตฯ บนกระดาน

 
     ในบางวันที่ทำการเรียนการสอนจะมีทั้งกิจกรรม บางวันนักเรียนได้ทำใบงานหรือประดิษย์สิ่งๆ ต่างๆ โจทย์บนกระดานสำคัญยิ่งในการจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนทำงานจากโจทย์ดังกล่าวที่ครูกำหนด

      ระหว่างที่ครูจักกิจกรรมการสอน ครูก็จะสอนผ่านกระดานบ้างหรือลงในโปรแกรมบาง(GSP) ซึ่งนักเรียนได้เรียนรู้แตกต่างกันออกไป ในกิจกรรมที่หลากหลาย

 

     การที่นักเรียนได้นำเสนอวิธีคิดผ่านกระดาน(Show & Share) ให้เพื่อนๆ นักเรียนดูวิธีคิดไปพร้อมๆ กัน นักเรียนจะเห็นมุมมองที่หลากหลาย วิธีคิดหาคำตอบของโจทย์บางข้ออาจจะไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว แต่ยังมีวิธีคิดิอื่นๆ จากเพื่อนๆ ของเราก็ยังมี แต่ก็ยังเป็นคำตอบเดียวอยู่เช่นเดิม

     การที่นักเรียนเห็นวิธีการได้มาซึ่งคำตอบที่หลากหลายจะต่อยอดไปสู่ "ความเข้าใจ" การไม่ยึดติดกับวิธีคิดของตัวเอง กล้ายอมรับวิธีคิดที่แตกต่าง สุดท้ายแล้วนักเรียนที่เข้าใจแล้วเขาจะเลือกทำวิธีที่นำปสู่คำตอบที่ถูกต้องเลือกวิธีง่ายที่สุด..

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของแกนสมมาตร

ความหมายของแกนสมมาตร

   กิจกรรมสร้างความเข้าใจเรื่องแกนสมมาตร โดยผ่านการปฎิบัติด้วยสื่อจริง
ครูมีกระดาษให้นักเรียนดู จากนั้นพับกระดาษครึ้งลงแผ่นเท่าๆ กัน ใช้กรรไกรตัดมีส่วนโค้งและว้าวตามต้องการ ครูตั้งคำถามกับนักเรียนรูปที่ครูตัดนั้นน่าจะเป็นรูปอะไร ? ครูให้นักเรียนตอบในสิ่งที่คิดทีละคนจนครบ แล้วครูคี่กระดาษออกมา ถามักเรียนกลับอีกว่ากระดาษแผ่นนี้สามารถเป็นอะไรได้บ้างค่ะ ? ครูให้นักเรียนได้ตอบแสดงความคิดเห็นทุกคน ตามจินตนาการของนักเรียนเอง จากนั้นครูให้นักเรียนลองสังเกตุดูนะค่ะ เด็กๆเห็นอะไรบ้างจากภาพ นักเรียนเสนอความคิดเห็นร่วมกัน ได้ออกมาเป็นรูปภาพมีเส้นตรงที่เกิดจากรอยพับ เส้นตรงเส้นนี้แบ่งภาพออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน แล้วเมื่อพับกลับมาอีกครั้งกระดาษจะทับกันได้สนิทพอดี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเส้นสมมาตร หรือแกนสมมาตรนั้นเอง รูปภาพที่เกิดจากเส้นสมมาตรหรือแกนสมมาตร จึงเป็นรูปภาพที่สมบูรณ์ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จากนั้นครูให้นักเรียนลองยกตัวอย่าง รูปภาพที่เกิดจากแกนสมมาตรเพียงเส้นเดียว สามตัวอย่างจากการสร้างแกนสมมตรขึ้นเอง โดยพับกระดาษแล้วตัดออกมาตามจินตนาการ นักเรียนจะได้ฝึกการมองภาพ ที่จะเกิดขึ้นโดยการตัดเห็นภาพเพียงครึ้งเดียว

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เรียนรู้ผ่านการคิดโดยการใคร่ครวญในทุกๆ ปัญหา...

" อย่าด่วนที่จะสรุปและบอกคำตอบโดยขาดการใคร่ครวญ
ครุ่นคิดในทุกๆ ปัญหาแล้วจึงสรุป หาคำตอบของปัญหานั้นๆ อย่างมีสติ "


     การสอนที่เน้นความเข้าใจมากกว่าตัวความรู้ เราเชื่อว่าตัวความรู้ไม่ใช่ตัวเป้าหมายหลักในการเรียนรู้ เมื่อนักเรียนเกิดความเข้าใจแล้วเขาจะสามารถประยุกต์แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

      รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์แนวลำปลายมาศพัฒนา เราสอนโดยการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้เรียนรู้ผ่านการคิดโดยการใคร่ครวญในทุกๆ ปัญหา โดยเด็กเกิดปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในการแก้ปัญหา

ลำดับการสอนสาระที่ 1 - 5
สาระที่ 1 จำนวนและการดำเนินการ
สาระที่ 2 การวัด
สาระที่ 3 เรขาคณิต
สาระที่ 4 พีชคณิต
สาระที่ 5 ข้อมูลและความน่าจะเป็น
สาระที่ 6 ทักษะกระบวนการคิด
- การแก้ปัญหา
- การให้เหตุผล
- การสื่อสาร
- การมองเห็นภาพ(Visuallization)
- การออกแบบ (Modelling)
- การเห็นความสัมพันธ์ (Patternning)
- การวางแผน (Planing)
- การสรุปองค์ความรู้สู่การนำไปปฏิบัติใช้ (Conclution and Modify)
- การเชื่อมโยงความรู้

สอนให้นักเรียนเข้าใจ Concept

      เรามีรูปแบบการสอนตามพัฒนาการทางสมองของผู้เรียนทุกระดับชั้น ตรงนี้เราให้ความสำคัญมาก เราออกแบบการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจ ตามพัฒนาการทางสมองของผู้เรียนอยู่ 3 ขั้น ดังนี้..
1. ขั้นรูปธรรม(สิ่อจริง , ปฏิบัติจริง)
2. ขั้นกึ่งรูปธรรม(วาดภาพ)
3. ขั้นสัญลักษณ์ 

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แบบรูปแสนสวย


แบบรูปและความสัมพันธ์

ผลงานสร้างสรรค์แบบรูปของภาพ ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป โดยมีรูปเรขาคณิต รูปภาพอิสระ ตามจินตนาการของนักเรียนเพื่อสื่อถึงความเข้าใจเรื่องแบบรูปของภาพ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการซ้ำของรูปภาพ สีสัน เพื่อให้เห็นแบบรูปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นักเรียนมีความพยายามทำชิ้นงานให้สมบูรณ์แม้แต่ขนาดของภาพ ด้วยความตั้งใจ ผลงานจึงออกมาสวยงามและมีคุณภาพตามความสามารถของนักเรียน สื่อถึงความเข้าใจที่ดีในเรื่องที่เรียนรู้



ผลงานโดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

ด.ญ.ณัฐฐาพร แบ่งเพชร (พี่ไก่)

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

Mind Mapping สรุปความเข้าใจเรื่องแบบรูปและความสัมพันธ์

Mind Mapping แบบรูปและความสัมพันธ์

ครูและนักเรียนร่วมกันประมวลองค์ความรู้ที่ได้จาก กระบวนการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ เรื่องแบบรูปและความสัมพันธ์ ครูใช้คำถาม เพื่อให้นักเรียนยกมือนำเสนอ "แบบรูปและความสัมพันธ์เราเรียนรู้เรื่องอะไรกันมาบ้างค่ะ ครูขอคนน่ารักยกมือตอบหน่อยค่ะ " ครูให้นักเรียนเสนอพร้อมเขียนกิ่งแก้วบนกระดาน ให้นักเรียนมองเห็นได้ร่วมกันทุกคน ครูใช้คำถามเพิ่ม มีใครจะเพิ่มเติมอีกไหมค่ะ นักเรียนนำเสนอแต่ละกิ่งแก้วออกมาจนครบ จากนั้นครูให้นักเรียนจับคู่ โดยเลือกคนที่พร้อมในการขึ้นทำงานนั่งทำงานบนโต๊ะเรียน นักเรียนทั้งสองคนจะแบ่งหน้าที่กันทำงาน เปลี่ยนกันเขียนเปลี่ยนกันระบายสี ตกแต่งให้สวยงาม ฝึกการทำงานเป็นคู่ ร่วมกับผู้อื่น การแบ่งปัน ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองที่ได้รับผิดชอบ



ผลงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

ด.ญ.ฐิติพร สงครามรอด พี่อุ้มจุ้ย และ ด.ญ.มณทิรา ม่วงรัตน์ พี่โฟกัส



ผลงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่
2

ด.ญ.ชลิตา นาดี (พี่แพรว) และ ด.ญ.วนัสนันท์ ศรีสืบมา (พี่หมิว)

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่อง....เรขาคณิตสร้างสรรค์ (โดยนักเรียนชั้นป.3)



นิทานเรื่อง .... เรขาคณิตสร้างสรรค์


จัดทำโดย
ด.ญ.ภัคทิรา ทุมตา (พี่ตุ๊กตา) ชั้น ป.3
ด.ญ.เอมอร แมนไธสง (พี่ป๊อบ) ชั้น ป.3


ณ บ้านหลังหนึ่งมีรูปเรขาคณิต 5 รูป แล้วบ้านหลังนั้นมีปริศนาอยู่ว่า สามเหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม รูปต่อไปเป็นอะไร ? อ้อรู้แล้ว วงกลม สามเหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม (หน้าที่ 1) รู้เรขาคณิตก็ออกไปเดินเล่นสวนผลไม้ รูปเรขาเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จึงเจอทางแยกทั้งหมด 4 ทาง (หน้าที่ 2)


พวกเขาก็เลือกเดินทางตรงรูปเรขาคณิต เจอเพื่อนๆที่มีรูปแบบเหมือนกัน (หน้าที่ 3) พวกเขาก็เดินกลับ พวกเขาได้เจอแบบรูปเรขาคณิตต่างๆ พวกเขาก็เดินไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านตัวเอง (หน้าที่ 4)



พอตอนเช้าเขาก็ตื่นมาต่อรูปแบบเรขาคณิตต่างๆ เขาก็ได้ต่อรูปแบบเรขาคณิตให้สูงที่สุด (หน้าที่ 5) แล้วเขาก็กลับบ้านของเขา มีเรขาคณิตอยู่ในนั้นด้วย พวกเขาก็อยู่อย่างมีความสุขเรื่อยมา (หน้าที่ 6)



การเรียนการสอนที่ได้นำมาใช้ได้จริง ในชีวิตประจำวัน เชื่องโยงกับเหตุการณ์ที่ดำรงชีวิตของเรา เช่น กลางวัน กลางคืน , ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ,วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ก็เป็นแบบรูปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน และมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป

นิทานเรื่องลิงน้อยจอมฉลาด โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3


นิทานเรื่อง.........ลิงน้อยจอมฉลาด



จัดทำโดย
ด.ช.ชนินทร์ ซอนรัมย์ ผู้แต่ง ชั้น ป.3 ด.ช.พิทยา พยัคฆะ ผู้วาดรูป ชั้น ป.3


ณ ป่าแห่งหนึ่งมีลิงอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งฉลาดมาก วันหนึ่งเขาเก็บลายสมบัติได้ ในลายแทงบอกว่าให้เดินทางที่มีตัวเลข 1 2 3 1 2 3 1 2 3 (หน้าที่ 1) ลายแทงบอกว่าถ้าไปเลขที่มี 8 9 8 9 8 จะดวงไม่ดี ลิงน้อยรู้เขาก็เดินทางที่มีตัวเลข 1 2 3 1 2 3 1 2 3 (หน้าที่ 2)



ลิงน้อยเดินทางต่อไป ก็ไปพบตัวอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งเรียงตัวอักษรผิดให้ลิงน้อยเรียงให้ถูก ถ้าเรียงผิดตัวอักษรจะระเบิดออกมา (หน่้าที่ 3) ลิงน้อยเรียงตัวอักษรถูก ลิงน้อยเดินทางต่อไป ก็ไปพบกับเครื่องหมาย ให้ทำอะไรก็ได้ให้เท่ากับ 8 ลิงน้อยก็หักไม้ 6 ชิ้น ขาดไป 2 ชิ้น ลิงน้อยก็เลยไปหักมาเพิ่มอีก 2 ชิ้น (หน้าที่ 4)



ลิงน้อยเรียงไม้ถูก ก็เดินทางต่อ ก็ไปพบกับยักษ์ ยักษ์บอกว่าให้หาภาพที่ซ้ำกัน ถ้าไม่เจอสมบัติจะหายไป ลิงน้อยตอบอย่างมั่นใจ (หน้าที่ 5) ไชโยทำถูกแล้ว แล้วลิงน้อยก็กลับบ้านอย่างมีความสุข (หน้าที่ 6)


นักเรียนได้นำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้ ผ่านจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เป็นนิทานตามจินตนาการ มีมีความรู้และความสนุกกับนิทาน

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ระดมคววามคิด........การเรียนรู้เป็นกลุ่ม



ช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน
ครูจัดนักเรียนออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องทำงานร่วมกัน ช่วยกันระดมความคิด เขียนวิธีการคิดพร้อมคำตอบ ลงไวท์บอร์ดเล็ก กระบวนการเรียนผ่านการเล่นเกม ครูเขียนคำถามบนกระดาน นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันระดมความคิด เพื่อหาคำตอบจำนวนมากที่สุดในเวลาที่กำหนดให้ ข้อละ 30 วินาที หรือ 1 นาที ขึ้นกับความยากของคำถามเช่น นับเพิ่มทีละ 2 จาก 11 นักเรียนร่วมกันระดมความคิดเพื่อให้ได้ตัวเลขออกมา คือ 13 , 15 , 17 , 19 , 21 , ... การนับแต้มสะสมนับจำนวนตัวเลขที่ได้ เพื่อสร้างกำลังใจและเสริมแรงในการร่วมกิจกรรม ให้นักเรียนบันทึกลงมุมใดมุมหนึ่งของไวท์บอร์ด ฝึกการซื่อสัตย์กับตัวเองและเพื่อน

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่อง....เด็กน้อยกับแบบรูป

นิทานเรื่อง เด็กน้อยกับแบบรูปและความสัมพันธ์


จัดทำโดย
ด.ช.เจตณัฐ สวัสดี พี่เพลง ป.2
ด.ญ.กุลธร ชัยบุรัมย์ พี่บีท ป.2



มีเด็กคนหนึ่งเขาต้องการเรียนเกี่ยวกับแบบรูปและความสัมพันธ์ เขาจึงถามพ่อแม่ว่าความหมายของแบบรูปและความสัมพันธ์เป็นอย่างไร พ่อแม่บอกว่า คือแบบรูปซ้ำๆ กัน เช่นรูปภาพ ตัวเลข เครื่องหมาย เหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ (หน้าที่ 1) วันต่อมาแม่บอกว่ามีความสัมพันธ์ตัวเลขเช่น 152152 (หน้าที่ 2)


วันต่อมาแม่ไปตลาด เขาจึงไม่มีคนให้ถาม
(หน้าที่ 3) วันต่อมาแม่บอกว่ามีความสัมพันธ์ตัวอักษรเช่น กขคฆกขค (หน้าที่ 4)



วันต่อมาแม่บอกว่ามีความสัมพันธ์เครื่องหมายคือ + x / - + x / - + x / -
(หน้าที่ 5) วันต่อมาแม่บอกว่ามีความสัมพันธ์ของเหตุการณ์คือ ร้อน ฝน หนาว ร้อน ฝน หนาว (หน้าที่ 6)


แล้วเขาก็อยู่อย่างมีความสุข (หน้าที่ 7) และหน้าปก

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สอนการคิดผ่านกิจกรรมหมากรุกไทย...

หนึ่งในกิจกรรมของวิชาคณิตศาสตร์
หมากรุกไทย


     ปีที่แล้วกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์เราได้จัดประชันหมากรุกไทย ซึ่งนักเรียนทุกระดับชั้นให้ความสนใจกันเป็นอย่างดี มีผู้สมัครเข้าร่วมประชันประมาณ 93 คน แบ่งเป็ช่วงชั้นที่ 1 ชาย-หญิง และช่วงชั้นที่ 2 ชาย-หญิง ใช้เวลาการประชันหมากรุกไทยประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ได้ผู้ชนะแต่ละระดับช่วงชั้น
     ในกิจกรรมดังกล่าวผมได้อาสาสมัครผู้ช่วยกรรมการ โดยมีกรรมการทั้งสิ้นเกือบ 15 คน ซึ่งนักเรียนทุกคนที่อาสาในครั้งนั้นได้แบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นระบบ โดยมี หน้าที่มากมายดังนี้นะครับ..
- ฝ่ายควบคุมสนามคือห้ามให้ผู้ชมเข้ามาในบริเวณที่เรารอบเชือกฟากไว้ 
- ฝ่ายจัดเตรียมสนาม/สถานที่จะเป็นนักเรียนชาย 2-3 คน 
- ฝ่ายจัดเตรียมกระดานหมากรุกไว้รอผู้เข้าร่วมการประชัน
- ฝ่ายตรวจเช็คผลการประชัน และจัดสายการประชันช่วยคุณครู
นักเรียนที่อาสาช่วยงานทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดีเผื่อไว้ใช้ในภายภาคหน้า 

     พอมาปีการศึกษา 2553 เราจัดการประชันในช่วงแข่งขันกีฬาสี ใช้เวลาเช่นเดิมแข่งขันเวลาเที่ยงครึ่งถึงบ่ายโมงตรง ซึ่งมาครั้งนี้เราแบ่งการแข่งขั้นเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
- ป.1 - ป.2  ชาย-หญิง
- ป.3 - ป.4  ชาย-หญิง
- ป.5 - ป.6  ชาย-หญิง
แข่งขันเสร็จเมื่อวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งนักเรียนสุขใจหลังประชันเสร็จสิ้นลง บางคนบอกผมว่าจะขอแก้ตัวใหม่ในปัหน้าครับ

     กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงการคิดที่แยบยลอย่างยิ่ง ใช้หลักการแผนช่อนแผน ผมเคยไปเล่นกับนักเรียนหลายคน โดยเรามองเห็นพัฒนาการทางด้านการคิดที่แยบยลของเด็กแต่ละคนได้ผ่านกิจกรรมดังกล่าวครับ 
   ดังคำกล่าวของขงเบ้งเคยบอกไว้ว่า "เล่นหมากรุก อย่าเอาแต่บุกอย่างเดียว เดินหมากรุกยังต้องคิด เดินหมากชีวิต จะไม่คิดได้อย่างไร"

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่อง....เด็กชายวงกลม (โดยนักเรียนชั้นป.1)

ความเข้าใจเรื่องเรขาคณิต
นิทานเรื่องเด็กชายวงกลม


จัดทำโดย
1. ด.ญ.กมลชนก เพ็ชรโกมล (พี่แพรว) 2. ด.ญ.ปวรัตน์ มีบุญ (พี่วิวร์)
3. ด.ญ.ธัญญารัตน์ เจริญกิตินันท์ (พี่มิว)





วันหนึ่งมีเด็กชายชื่อวงกลม เขาเรียนเรื่องแบบรูป เขาไปเรียนทุกวัน (หน้าที่ 1)ตอนที่เขาเดินก็มีเด็กหญิงชื่อสามเหลี่ยม (หน้าที่ 2)


เด็กทั้งสองเล่นด้วยกันทุกๆ วันนะ (หน้าที่ 3) แล้วสองก็ไปโรงเรียนด้วยกันทุกๆ วัน (หน้าที่ 4)


วงกลมและสามเหลี่ยม เรียนวิชาคณิตศาสตร์ คุณครูให้ทั้งสองวาดรูป วงกลม สามเหลี่ยม (หน้าที่ 5) ครูบอกว่าทั้งสองเป็นเรขาคณิต (หน้าที่ 6)


รูปเรขาคณิตยังมีรูปสี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม วงรี และทั้งหมดก็เรียนวิชาคณิตศาสตร์ อย่างมีความสุข (หน้าที่ 7)

นิทานเรื่อง....การแก้ปริศนาของ 2 และ 3 (โดยนักเรียนชั้นป.1)

การเรียนการสอนเพื่อความเข้าใจ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปี ที่หนึ่งยังเป็นเด็กเล็ก ชอบอะไรที่สนุกสนาน ไม่ชอบอะไรที่เป็นวิชาการเท่าไรนัก บ้างครั้งในการสอนครูอ่านนิทาน ที่แฝงด้วยข้อคิดดีๆ ได้ฝึกการคิดตามเนื้อเรื่อง นักเรียนมีส่วนร่วมในนิทาน และความรู้จากการเข้าใจ เช่น เรื่องแบบรูป ไขมงกุฎปริศนา แต่งโดยซอ โบ ฮยอน เขียนภาพโดย อัน เย ริ แปรและเรียบเรียงโดย ปิยภัค ตีตอักษร
ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ดีแก่ตัวนักเรียน จนเกิดเป็นผลงานชิ้นต่างๆ ขึ้นมาให้ครูและเพื่อนๆ ได้ชื่นชมกัน

นิทานเรื่อง.........การแก้ปริศนาของ 2 และ 3

ผู้แต่ง ด.ช.อัครอินท์ เรืองบุญ (พี่แจ๊บ)
ภาพวาด ด.ญ.ภัคภร จุนดิระพงค์ (พี่ออม)
ระบายสี ด.ญ.ปภาวรินทร์ แสนลาด (พี่เนย)



ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพี่น้อย 3 คน ชื่อ 1 2 3 แต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกัน (หน้าที่ 1) พี่ใหญ่นิสัยชอบขโมยของคนอื่น พี่กลางฉลาด ช่างคิด ชอบอ่านหนังสือ น้องสุดนิสัยดีมีระเบียบ (หน้าที่ 2)


ทั้งสามอยู่ด้วยกันโดยใช้ให้สอง เป็นคนทำงาน ทำกับข้าว ถูบ้าน และอีกหลายๆ อย่าง พอวันต่อมานักสืบคนหนึ่ง ต้องการแก้ไขปริศนา ถ้าถูกจะให้เงินจำนวน 1,000 บาท (หน้าที่ 3) โดยมีข้อแม้ว่า จะไม่แตะต้อง พอ 3 ไปดู ก็ไม่รู้ว่าอะไรหายไป (หน้าที่ 4)



พอ 2 ไปดูสองบอกว่า สี่เหลี่ยม วงกลม สี่เหลี่ยม วงกลม สี่เหลี่ยม วงกลม แล้วทำไมแถวที่ 3 และ 4 เป็นแบบนี้ ดาว หัวใจ ดาว หัวใจ ดาว ดาว สักครู่ 2 บอกว่าความจริง แถวที่ 4 ต้องเป็น ดาว หัวใจ ต่างหาก(หน้าที่ 5) โดยการตามหาต้องผ่านคำถาม 1 คำถามถึงจะเจอของจริง คำถามนี้มีอยู่ว่า หัวใจ หัวใจ หัวใจ ดาว ดาว ดาว วงกลม..................แต่มีข้อแม้ว่าตอบได้แค่ครั้งเดียว(หน้าที่ 6)


พอทุกคนทำสำเร็จ นักสืบก็ให้เงินจำนวนนั้นตามสัญญา และ 3 พี่น้องก็ใช้เงินอย่างมีความสุข(หน้าที่ 7)

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติด้วยตัวเอง

สื่อจริง ปฎิบัติจริง เพื่อความเข้าใจ
การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการได้ลงมือทำด้วยตัวเอง จะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง ความรู้ที่ได้มาจากความเข้าใจ มีค่ามากสำหรับเด็กเล็ก ถึงการท่องจำทำให้เขาค้นหาคำตอบได้ แต่คำตอบนั้นไม่อาจสรุปได้ว่าเขาเข้าใจจริง การเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ระดับชั้น ป.1-ป.3 จึงจำเป็นที่ให้ นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อจริงและการลงมือปฎิบัติจริง มีการเสนอแลกเปลี่ยนวิธีการคิดกับเพื่อน ๆ เพื่อสุปเป็นความเขาใจร่วมกันและเพิ่มเติมความเข้าใจของตนเอง

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ใบงานการคูณ ..... ฝึกฝนทักษะการคิด


ใบงานวัดความเข้าใจเรื่องการคูณ
การคูณนักเรียนจะเรียนรู้ จากสื่อจริงด้วยการหยิบจับสิ่งของเพิ่มทีละเท่าๆกัน จากการหยิบจับสิ่งของเป็นขั้นของการวาดภาพ การเพิ่มทีละเท่าๆกัน จากการวาดภาพนักเรียนจะเกิดภาพการคิดเกิดขึ้นในสมอง จากนั้นนักเรียนเริ่มใช้ตัวเลขแทนการวาดภาพ และมีเครื่องหมายการบวกตัวเลขเพิ่มทีละเท่าๆกัน

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สรุป Mind Mapping หลังเรียน(โจทย์ปัญหา)

Mind Mapping โจทย์ปัญหา
กระบวนการเรียนรู้ผ่านไป สิ่งที่นักเรียนต้องทำเพื่อทบทวนความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง คือการสรุปองค์ความรู้ความเข้าใจผ่าน Mind Mapping นักเรียนได้ประมวลความเข้าใจเพื่อสรุปเป็นความรู้ ถ่ายทอดสู่ผู้อื่นไม่เพื่อแค่การเข้าใจ แต่นักเรียนสามารถอธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจด้วย

โจทย์คณิต(ยังไม่เข้าใจ)ให้ทวนคิดคนละ 2 ข้อ

การมองเห็นภาพค่าพายหลังจากเด็กนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านความเข้าใจ

     ในคาบนี้ผมแจกแผ่นกระดาษหน้าเดียวให้นักเรียนทุกๆ คน ให้เลือกโจทย์ที่คิดว่ายังไม่เข้าใจถ่องแท้มาคนละ 2 ข้อ แล้วนำมา show&share กันกับครูและเพื่อนๆ เมื่อนักเรียนแต่ละคนได้โจทย์มาแล้วผมก็ให้นักเรียนทุกๆ ตกแต่งชิ้นงานผ่านความยากของโจทย์นั้น
     นักเรียนจะได้รับการอธิบายโจทย์ที่ยังไม่เข้าใจจากเพื่อนผู้รู้ในโจทย์ข้อนั้นและครูช่วยเสริมความเข้าใจให้อีกครั้งหลังจากเพื่อนผู้รู้ช่วยอธิบาย(เกิดภาวะการรู้ตัว) ให้นักเรียนแต่ละคนชักถามวิธีคิด ระหว่างเฉลยเสร็จทุกครั้งผมก็จะมีคำถามตรวจเช็คความเข้าใจจากนักเรียนบางคน(สุ่มเลือกนักเรียนทบทวนคำตอบ)  
     นักเรียนจะได้แสดงศักยภาพทางด้านการกล้าแสดงออก การนำเสนอวิธีคิดของตัวเองและตรวจเช็คคำตอบวิธีคิดของเพื่อนซึ่งอาจจะเป็นวิธีคิดที่แตกต่างหลากหลาย ส่งผลให้นำไปสู่ความเข้าใจในโจทย์ข้อนั้นๆ เพราะนักเรียนได้ค้นพบวิธีคิดที่เชื่อมโยงไปสู่คำตอบมากกว่า 1 วิธี เกือบทุกครั้งที่นำเสอนโจทย์ครับ สุดท้ายแล้วนักเรียนที่ค้นพบวิธีคิดที่หลากหลายเขาจะเลือกใช้วิธีคิดที่ง่ายที่สุดที่เขาเข้าใจมาเลือกทำในทุกครั้ง..
     
   ปล.โจทย์ข้อนี้ผมให้ทำส่งเป็นการบ้านพร้อมให้นักเรียนนำไปให้คุณแม่ คุณพ่อ หรือผู้ปกครอง ช่วยตรวจเช็คดูความเรียบร้อยของชิ้นงาน พร้อมให้ท่านเซ็นต์รับรองว่าตรวให้แล้วด้วย เช่นดังของพี่ฟ้า(วิ) ป.5 ก็มีลายเซ็นต์อยู่มุมบนด้านขวาครับ..

     ครูจะย้อนถามนักเรียนทุกครั้งหลังนักเรียนร่วมกันจากเฉลยเสร็จว่า "ใครมีวิธีคิดที่แตกต่างบ้างครับ?"

Concept การลบ


ทักษะการเรียนรู้ สู่ Concept การบวก
การสร้างความเข้าใจเรื่องการลบ นักเรียนจะเรียนผ่านสื่อจริงโดยชุดแผ่นร้อย เช่นมีจำนวนหนึ่งคือ 235 ต้องการหยิบออก 123 จะเหลือเท่าไร ให้นักเรียนได้ลองหยิบสื่อออกมา 235 แล้วให้หยิบออก /หรือหักออก 123 นักเรียนจะเหลือแผ่นร้อยกี่แผ่น แท่งสิบกี่แท่ง หน่วยจิ๋วกี่จิ๋ว เหล่านี้มีค่าเป็นเท่าไร เมื่อนักเรียนชำนาญจากการใช้สื่อจริง ให้นักเรียนวาดภาพแสดงการคิดแต่ยังคงใช้ภาษาธรรมชาติ เช่นมีอยู่ แล้ว หักออก /ตัดออก เหลือเท่าไร ลงในใบงาน concept การลบ นักเรียนจะเกิดความเข้าใจในการลบจำนวน

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Concept การบวก 2

ทักษะการเรียนรู้ ด้วยการวาดภาพแสดงการคิด
เพื่อความเข้าใจจากการออกแบบวาดภาพ แทนจำนวนในกรณีที่มีการทด นักเรียนมีเข้าใจเมื่อจิ๋วรวมกันได้ 10 จิ๋วจะกลายเป็นแท่งสิบ เมื่อได้คำตอบออกมานักเรียนรวมจิ๋วเป็นแท่งสิบเพิ่มในช่องหลักสิบ สามารถรู้ที่ไปที่มาของตัวทดได้โดยไม่ต้องท่องจำ ว่าหลักหน่วยเมื่อครบสิบให้ใส่ศูนย์แล้วทดหนึ่ง เช่นเดียวกันแท่งสิบเมื่อครบสิบแท่ง จะกลายเป็นแผ่นร้อยด้วยความเข้าใจ นักเรียนจะเกิดภาพการคิดในสมอง เพื่อสร้างความเข้าใจของค่าประจำหลักต่างๆ และการบวกคือการรวมกัน เพิ่มอีก ขอบคุณผลงานของพี่มายด์ ด.ญ.อินทิรา ยินดีชาติ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

Concept การบวก 1

ทักษะการเรียนรู้ ด้วยการวาดภาพแสดงการคิด
เพื่อความเข้าใจ สืบเนื่องจากการปฎิบัติด้วยสื่อจริงแล้ว นักเรียนสามารถวาดภาพแสดงวิธีการคิด เข้าใจที่จะสร้างภาพแทนหน่วยจิ๋วด้วยรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ วาดรูปเหลี่ยมผืนผ้าแบ่งเป็นช่องเล็ก 10 ช่องแทนพี่แท่งสิบ และตารางสี่เหลี่ยมแทนพี่แผ่นร้อย เมื่อเกิดความชำนาญเข้านักเรียนจะเกิดภาพจินตนาการขึ้นในสมอง จะเข้าใจค่าประจำหลักต่างๆ ทำไหมตัวเลข 9 ที่อยู่ในหลักหน่วยจึงมีค่าน้อยกว่า เลข 5 ที่อยู่ในเลขหลักสิบ ไม่เพียงแค่นั้นนักเรียนจะเกิดการเรียนรู้เรื่องการสร้างภาพ เพื่อใช้คิดวิเคราะห์ในการหาคำตอบ เข้าใจที่มาของคำตอบ เป็นพื้นฐานที่ดีในการใช้แก้ไขโจทย์ปัญหา
เช่นผลงานของพี่เพลง ด.ช.เจตณัฐ สวัสดี นักเรียนชั้นป.2 มีความเข้าใจในการวาดภาพแทนจำนวน วาดภาพแผ่นร้อยที่ไม่ต้องมีตารางถึงร้อยช่อง แต่เขาสร้างข้อตกลง กำหนดเงื่อนไขให้ตนเองได้ว่าเป็นแผ่นร้อยมีค่าเป็นหนึ่งร้อยนะ โดยไม่ต้องเสียเวลาวาดตารางถึงร้อยช่อง

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทักษะการฟังจาก..เรื่องเล่าก่อนสอนคณิตศาสตร์

หนึ่งในเทคนิคในการเตรียมความพร้อมก่อนสอนคณิตศาสตร์

     เด็กๆ นักเรียนทุกคนชอบฟังเรื่องเล่าจากคุณครู ครูผู้สอนแต่ละคนอาจจะเทคนิคแตกต่างกันออกไปในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีสมาธิ คลื่นสมองต่ำพร้อมที่จะเรียนรู้ เมื่อเด็กอยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำแล้วครูก็จะนำเข้าสู่บทเรียน และเด็กก็จะได้เปิดรับความรู้จากครูผู้สอนอย่างเต็มที่
     หนึ่งในเรื่องเล่านิทานแง่คิด "ลิงกับลา" เรื่องดีๆ มีสาระนำมาเล่าให้นักเรียนสดับรับฟังแล้วถามแง่คิดจากนิทานจากนักเรียนทุกๆ คน เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการเตรียมความพร้อมได้ดี เรื่องที่นำมาเล่าถ้าสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังจะสอนจะดีมากเลยทีเดียวครับ..

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การวัดความยาวด้วยสายวัด


การเรียนรู้จากการปฎิบัติโดยใช้สื่อจริง
จะยาวเท่าไรนะ ? การเรียนรู้เรื่องการวัดความยาว ด้วยเครื่องมือวัดที่มีหน่วยมาตรฐาน นักเรียนเลือกเครื่องมือการวัด ต่อสิ่งของที่อยากรู้ความยาว เช่นการใช้สายวัดเพื่อวัดเอว ข้อมือ ลำคอ เพราะนักเรียนได้เรียนรู้จากการใช้ไม้บรรทัด ไม่สามารถวัดสิ่งที่มีความกว้างได้โดยตรง สิ่งที่เหมาะสมที่สุด คือเครื่องมือวัดที่สามารถโค้งตามเส้นโค้งได้ดีคือสายวัด จากนั้นมาลองเรียนรู้การวัด ด้วยการวัดสิ่งใกล้ตัวกันดีกว่า

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แบบรูป 2


ความเข้าใจเรื่องแบบรูปของความสัมพันธ์

เมื่อนักเรียนเห็นแบบรูปและความสัมพันธ์ของแบบรูป แล้วนักเรียนสามารถเชื่อมโยงแบบรูปที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันของตัวนักเรียนได้ บอกแบบรูปซ้ำๆ เช่น กลางวัน - กลางคืน การเดินของเข็มนาฬิกา ฤดูที่เกิดขึ้นในหนึ่งปี ฤดูร้อน - ฤดูฝน - ฤดูหนาว รูปบนพื้นผ้า ลายผ้าไหมบนผ้าถุงของคุณแม่ ลวยลายบนผ้าเช็ดหน้า ต่างๆ มากมายที่นักเรียนได้สัมผัสและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ครูจึงจำลองสถานการณ์ให้นักเรียนทำลายบ้นผ้าเช็ดหน้าของนเอง เพื่อนำรูปแบบต่างๆ ทั้งตัวเลข รูปภาพ และรูปเรขาคณิต มาสร้างสรรค์ตามจินตนาการของตนเองลงบนกระดาษ A4 เช่นผลงานของพี่โชค ด.ช.กมนภู สวาทรัมย์ นักเรียนชั้น ป.3 ที่แฝงไปแบบรูปต่างๆมากมายตามจินตนาการ

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คณิตศิลป์ช่วงชั้นที่ 1 ภาพที่ 1


คณิตศิลป์เสริมสร้างจินตนาการเพิ่มมิติสัมพันธ์ให้กับนักเรียน
ครูนำผลงานของพี่ช่วงชั้นที่ 2 ให้นักเรียนดู นักเรียนเห็นครั้งแรกบอกว่าสวยมากอยากทำได้เหมือนพี่จัง จากการที่ครูให้นักเรียนมองและสังเกตุภาพของพี่ แล้วมาเสนอวิธีการทำร่วมกันกับเพื่อนๆ ในห้องแลกเปลี่ยนกันจนเข้าใจ คนที่เข้าใจอธิบายให้เพื่อนที่ยังสังสัยได้เข้าใจ เมื่อนักเรียนเกิดความรู้สึกอยากทำได้เหมือนพี่ ครูให้นักเรียนได้ลองทำดูจากการฝึกทำทีละคนในชิ้นงานของตนเอง เมื่อนักเรียนเข้าใจการสร้างครูให้นักเรียนจับกลุ่ม 3 คนเพื่อแลกเปลี่ยนกันและร่วมมือกันสร้างผลงานแผ่นใหญ่ เช่นกลุ่มของพี่เพลง พี่ชมพู่ และพี่บีท ค่ะ

บ้านน้อยของหนู


กิจกรรมเสริมสรรค์จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน
กิจกรรมเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ลองออกแบบรูปทรงต่างๆ ด้วยตนเองทุกคน เพื่อออกมาเป็นชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์หนึ่งชิ้น ซึ่งให้นักเรียนได้ฝึกคิดสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการทุกคน โดยไม่กำหนดให้นักเรียนจับคู่หรือรวมกลุ่มกัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกระบวนการทำงาน เหมือนนักเรียนได้ลงมือกระทำแล้ว เขาจะเรียนรู้ได้เองว่าถ้างานที่ทำออกมาเพียงคนเดียว นั้นอยากมากที่จะได้ออกมาแต่ละชิ้น และต้องใช้เวลานานพอสมควรต่อการทำงาน นักเรียนจะต้องหาเพื่อน เพื่อรวมผลงานประกอบเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ เช่นเดี่ยวกับงานของ ..กุลปรียา สิงห์โพนทัน (พี่ชมพู่) กับ ..วนัสนันท์ ศรีสืบมา (พี่หมิว) นักเรียนชั้น ป.2

การจัดสรรเงิน 1,000,000 บาท..

เด็กหญิงนิตต์ชญาณ์ สงวนรัมย์(พี่ออม) ชั้น ป.5 เลขที่ 14 

     พี่ออมพึ่งเอาชิ้นงานมาส่งผมเมื่อเช้านี้เอง(เพราะสัปดาห์ที่แล้วป่วย) วันแต่ก็ยังติดตามทำงานค้างมาส่งคุณครู แถมยังใจดีแบ่งเงิน 10,000 บาท เพื่อซื้อทีวีจอยักษ์ให้ครอบครัว..
     ความปรารถณาดีที่จะมอบให้ของน้ำใจของนักเรียนแต่ละคน สะท้อนออกมาจากงานชิ้นนี้ การจัดลำดับความสำคัญเรื่องเงิน นักเรียนบางคนเก็บเงินไว้เป้นทุนการศึกษาให้กับตัวเองและน้องๆ บางคนปลูกบ้านให้คุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งเป็นความงอกงามทางด้านจิตวิญญาณที่จะปรารถณาที่จะเป็นผู้ให้..

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าก่อนสอน..เรื่องที่ 1

การโน้มน้าวให้นักเรียนสนใจในการเรียนในแต่ละคาบ..

     ในบางครั้งที่สอนคณิตศาสตร์ครูผู้สอนจะมีการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้นุกนพร้อมที่จะเรียนในชั่วโมงนั้นๆ อาจจะมีหลากหลายเทคนิคของครูแต่ละคนแตกต่างกันออกไป
     การนำเรื่อนิทานแง่คิดหรือเรื่องเล่าที่เป็นประโยชน์มาให้นักเรียนฟังแล้วเสมอมุมมองทางความคิดของนักเรียนก็ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ อย่างยิ่งที่ครูจะได้สัมผัสเห็นมุมมองแง่คิดจากนักเรียน บางคนครูอาจจะไม่เคยเห็นเขาเสนอความคิดเห็นมาก่อน แต่พอมาฟังเรื่องเล่าที่เขาชอบแล้วในเวลาเรียนคาบนั้นเองเขาอาจจะกลายมาเป็นคนที่ชอบเรียนวิชานนั้นกับครูคนนั้นขึ้นมาทันทีก็ได้นะครับ
     เรื่องที่ผมยกตัวอย่างนี้ชื่อเรื่อง "ยายทีเป็นปอบ" พอเล่าเรื่องเสร็จประมาณ 2 ถึง 3 นาที จากนั้นก็ให้นักเรียนเสนอแง่คิดของเรื่องที่รับฟัง แล้วท้ายชั่วโมงครูฝากเป็นการบ้านให้นักเรียนสรุหเรื่องเล่า(เพื่อดูทักษะทางด้านการฟังของนักเรียนแต่ละคน) ให้นักเรียนไปเล่าเสนอผู้ปกครองแล้วให้ผู้ปกครองเซ็นต์รับทราบพร้อมตรวจเช็คคำถูก-คำผิดให้ลูกๆ นักเรียนอีกด้วย ให้เกิดความรักความสามัคคีของครอบครัวของนักเรียนอีกทางครับผม..